มีบ้างไหมนโยบายยาเสพติด : ที่ไม่ผลิตซ้ำการตีตราแล้วหันมาบำบัดดูแล

เมื่อปี 2016 มติจากประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ได้เปลี่ยนกรอบคิดเรื่องยาเสพติดไป จากเดิมที่ถือเป็นสงครามยาเสพติด กลายเป็นนโยบายด้านสาธารณสุข ปรับจากการลงโทษมาเป็นการบำบัดดูแลสุขภาพผู้เสพยามากขึ้น

ในไทยมีทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ดูแลผู้ใช้ยาเสพติด ผ่านวิธีคิด กระบวนการ และเป้าหมายต่างกัน



สำหรับภาครัฐ เมื่อผู้ใช้ยาเสพติดถูกจับกุม หากไม่เลือกเข้าสู่กระบวนการของศาล ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดในศูนย์บำบัดฟื้นฟูตามแต่กำหนด และผู้ใช้ยาเสพติดส่วนมากมักหลีกเลี่ยงศูนย์บำบัดในพื้นที่ของภาครัฐเนื่องจากเป็นฝ่ายจับกุมพวกเขา

การทำงานของภาคประชาสังคมจึงเป็นอีกทางเลือก โดยผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเลือกได้ว่า ตนเองพึงพอใจกับแนวทางของภาครัฐหรือภาคประชาสังคมมากกว่า

ทนายหนุ่ม วัชระศักดิ์ วิจิตรจันทร์ ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ สมาชิกหนึ่งในเครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D) หรือกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องคุ้มครอง และบำบัดผู้ใช้ยาเสพติด เอ่ยถึงวิธีการช่วยเหลือผู้ใช้ยาเสพติด 2 ด้านที่พวกเขาทำมาโดยตลอด คือ

1. ช่วยเหลือด้านสุขภาพและให้ความรู้
เพราะเหตุผลการใช้ยาเสพติดมีหลากหลาย บางคนใช้แทนยารักษาโรค บางคนใช้ตามกลุ่มสังคมคนรอบข้าง บางคนใช้เพื่อเรื่องเพศสัมพันธ์

การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่สะอาด และความรู้เรื่องการใช้ยาเสพติด อาจกระทบต่อสุขภาพในเชิงลบจึงจำเป็นสำหรับผู้เสพ เพื่อให้พวกเขารักษาสุขภาพและชีวิตของตนเองไว้ได้

2. ช่วยเหลือด้านกฎหมาย
เครือข่าย 12D ช่วยเหลือผู้เสพในกระบวนการทางกฎหมาย คอยตรวจสอบว่า ผู้ใช้ยาเสพติดถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ และช่วยรวบรวมข้อเท็จจริงในสังคม เพื่อผลักดันภาครัฐให้คอยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้ดีขึ้น

ทนายหนุ่มเล่าว่า ในทีมคนทำงานภาคประชาสังคม หลายคนมีประสบการณ์ตรงกับยาเสพติดมาก่อน ทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนผู้ใช้ยา อยู่บนฐานความเข้าใจ และสะดวกใจ เพื่อจะนำไปสู่การเปิดใจในการหาแนวทางในการสนับสนุน ให้ความข่วยเหลือกัน

สำคัญที่สุด คือ ทำให้พวกเขามีความหวังว่าตนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย  “หลังนโยบายปี 2016 ออกมา ทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดเปลี่ยนไป ทำให้สังคมเริ่มมองผู้ใช้ยาเสพติดเป็นมนุษย์ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสมอภาคกับคนทั่วไป” ทนายหนุ่มกล่าว

“รัฐไทยจำเป็นต้องทบทวนนโยบายของตัวเอง อีกทั้งคนในสังคมก็ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้”

ในสังคมที่คนส่วนมากยังตีตราผู้ใช้ยาเสพติด เราจึงจำเป็นต้องทบทวนปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ โอกาสเข้าถึงกระบวนการรักษา และโอกาสเข้าถึงความรู้เรื่องยาเสพติด เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด คุ้มครองกลุ่มคนทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใคร หรือลดทอนคนกลุ่มใด มากกว่าจะมีเพียงแค่การด่าทอหรือจับกุมลงโทษ เพราะมันอาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แม้แต่รัฐเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจ