มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
Foundation for AIDS Rights THAILAND
เมื่อปีก่อน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอให้ออกประกาศยกเลิกการตรวจหาเชื้อ HIV เพื่อพิจารณาการเข้าทำงาน และกล่าวว่า หลายภาคส่วนยังมีความเข้าใจที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ กีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิในการทำงาน ทั้งที่มียารักษาที่มีประสิทธิภาพให้ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถดำรงชีวิตปกติและไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อ
ทว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ยังคงได้รับข้อมูลของเคสกีดกันผู้ติดเชื้อ “เอชไอวี (HIV)” จากการประกอบอาชีพ
ผู้เสียหายคือผู้ติดเชื้อ HIV ที่เปิดร้านอาหารภายใต้การดูแลของหน่วยงานหนึ่ง มีการต่อสัญญาเช่าทุกปี โดยไม่มีปัญหาด้านสุขภาพมากระทบต่อการทำงาน
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลับมีการแจ้งผ่านสื่อออนไลน์ของหน่วยงานนั้นเข้ามาว่า ให้ลูกค้าระมัดระวังการเข้ามารับประทานอาหารในร้านนี้ เนื่องจากเจ้าของร้านเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้จัดการหน่วยงานจึงบังคับตรวจเชื้อเพื่อพิสูจน์ว่า ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ HIV แม้ผู้เสียหายจะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดการตรวจสุขภาพ 9 โรคตามหนังสือต่อสัญญาเช่ามาตลอด
ความจริงแล้วผู้ติดเชื้อ HIV สามารถประกอบธุรกิจนี้ได้หรือไม่ ? และการพิสูจน์เรื่องสุขภาพแบบนี้ ถือเป็นการเปิดเผยเรื่องส่วนบุคคลต่อสาธารณะหรือเปล่า ?
นายแพทย์จักรภัทร บุญเรือง แพทย์วิจัยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ได้ให้ข้อมูลไว้กับเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติว่า ผู้ป่วย HIV ที่ทานยาต้านเชื้อจนสามารถกดเชื้อได้แล้ว จะไม่มีการตรวจพบในกระแสเลือด และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้กับผู้อื่นได้แล้ว แม้ในบริบทของการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม
ซึ่งตัวยานี้คือ ผลผลิตจากงานวิจัยที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2008 และถูกพิสูจน์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันว่า ผลการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดี
ดังนั้น ทางออกสำคัญน่าจะเป็นการสนับสนุนตัวยาที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ แม้ทำงานร้านอาหารก็ไม่สามารถแพร่เชื้อ มากกว่าการตามล่าหาตัวผู้ติดเชื้อและกีดกันเขาออกจากโอกาสในอาชีพ
ย้อนกลับมาที่เคสข้างต้น ผู้เสียหายต้องการให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อ ยกเลิกการตรวจหาเชื้อ และทบทวนนโยบายที่นำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติ
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์จึงทำหนังสือร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้พิจารณานโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว เพื่อออกนโยบายที่ชัดเจนเป็นหนังสือว่า จะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อคนอื่นอีกต่อไป
รวมทั้งติดต่อไปยังอัยการฝ่ายช่วยเหลือกฎหมายและคุ้มครองสิทธิฯ ให้เจรจาไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ ยังคงอยู่ในระหว่างพิจารณา
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ผู้เสียหายยังคงทำงานที่เดิม ไม่ได้ถูกบีบบังคับเหมือนช่วงแรก แต่ในอนาคตจะมีการบีบบังคับบุคคลอื่นแบบนี้อีกหรือเปล่า ถือเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนยังต้องติดตามต่อไป
และไม่ใช่แค่เฉพาะหน่วยงานนี้เท่านั้น หากการเลือกปฏิบัติยังมีให้เห็นโดยทั่วไป สังคมส่วนหนึ่งยังเลือกโจมตีผู้ป่วย หนทางรักษาเยียวยาเพื่อลดจำนวนผู้เสียหายทั้งในประเด็นสุขภาพ สิทธิ และโอกาส ก็น่าจะยังอีกยาวไกล