เรื่องตลกกับการละเลยความเท่าเทียมทางสังคม

คำนิยามของ “เต้นกินรำกิน” ในสมัยก่อนนับรวมเวทีตลกไว้ด้วย ตลกสมัยก่อนจึงไม่ได้มีภาษีดีมากนักสำหรับคนชนชั้นสูง และไม่มีการควบคุมในฐานะสื่อเช่นปัจจุบัน แต่หลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีวิทยุ และโทรทัศน์ เวทีตลกได้พัฒนาขึ้นมากลายเป็นรายการสร้างเสียงหัวเราะ ผ่อนคลายผู้ชมได้มาก และสร้างเม็ดเงินมหาศาล

แต่แม้รายการตลกจะถูกพัฒนาให้หยาบโลนน้อยลง “มุกตลก” ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า “เรื่องไหน” คือเรื่องโปกฮาสำหรับสังคมหนึ่ง ๆ

มุกตลกคือผลผลิตทางวัฒนธรรม จึงมีทั้งความเป็นสากลและแตกต่างในแต่ละพื้นที่ แต่ละยุคสมัย บางเวที มุกตลกคือมุกแซะการเมือง เหยียดสีผิว หลายเวทีในไทย มุกตลกคือการลวนลามผู้หญิง เหยียด LGBTQ+ เหยียดชาติพันธุ์ ขำท่าทางของคนพิการ ล้อเลียนรูปร่างหน้าตา ใช้คำด่าหยาบคาย หรือเฮฮาเมื่อใครบางคนถูกตีหัว

ไม่เพียงรายการตลก ละครโทรทัศน์ประเภทซิตคอมบางเรื่องก็หยิบยกมุกตลกมาใช้ดำเนินเรื่อง อาทิ เป็นต่อ ได้สะท้อนภาพปิตาธิปไตยในวงสังคมของพระเอก ชูความเป็นชายขึ้นมาเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตัวละครและบทสนทนาชวนหัว ยังมี Stand-up Comedy หรือเดี่ยวไมโครโฟน รูปแบบการสร้างสรรค์เรื่องตลกผ่านไมโครโฟนหนึ่งตัว ผู้แสดงสามารถสื่อสารเรื่องเล่าในแบบของตัวเอง Stand-up Comedy มีจุดกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา โดยมุกตลกยอดฮิตของที่นั่นคือ การเมือง เชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว เนื่องจากอเมริกามีความหลากหลายของกลุ่มคน และการปะทะของวัฒนธรรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเด็นการเหยียดสีผิว

นอกจากสื่อบนวิทยุ โทรทัศน์ หรือโซเชี่ยลมีเดีย สื่อสิ่งพิมพ์ก็มีมุกตลกให้เห็นเช่นกัน อย่างขายหัวเราะ การ์ตูนชื่อดังก็ฉายความสัมพันธ์ของหญิงชายในครอบครัว สถานที่ทำงาน หรือในบริบทสาธารณะ มีประเด็นความรุนแรงต่อเพศหญิง การกักขัง การเลือกปฏิบัติต่อแต่ละบุคคล มีมุกตลกที่เปรียบให้เพศหญิงเป็นวัตถุทางเพศ และไม่ให้คุณค่ากับผู้หญิงเมื่อไม่ตรงกับ Beauty Standard สอดแทรกอยู่

ดังนั้นแล้ว “มุกตลก” แบบที่สังคมฮิตกันมาตลอดจึงไม่สามารถครอบครองความผ่อนคลายของคนทุกคนได้ทั่วถึง เพราะท่ามกลางผู้ชมจำนวนมาก ย่อมต้องมีใครสักคนเป็นผู้หญิง LGBTQ+ กลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ คนผิวสี ฯลฯ ซึ่งมีอัตลักษณ์ ลักษณะทางกายภาพ หรือเพศสภาพอยู่ในเรื่องตลกเหล่านั้น

วิธีการเปลี่ยนข้อเท็จจริงบางอย่างให้กลายเป็นเรื่องตลก ยังทำให้ข้อเท็จจริงนั้นถูกมองข้าม ทำให้การมีอยู่ของชนชั้น การใช้อำนาจกดทับ คุกคาม หรือทำร้ายผู้อื่นกลายเป็นเรื่องไม่รุนแรง คล้ายประโยคที่แทบทุกคนเคยได้ยิน ‘แค่ล้อเลียนนิดหน่อยไม่เห็นต้องจริงจังขนาดนั้น’ แต่เพียงเพราะเป็นมุกตลก ความเป็นจริงจึงต้องถูกมองข้ามจริงหรือ ?

ในเมื่อบนโลกนี้มีเรื่อง ‘ตลก’ อยู่มากมาย เราจึงไม่เชื่อว่า ความสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสียงหัวเราะจะมีเพียงแค่มุกเหยียบย่ำคนอื่น

และเพื่อให้ความผ่อนคลายส่งต่อทั่วถึงกัน การสร้างเรื่องตลกที่มีเป็นมิตรมากกว่า สร้างภาพจำเชิงลบ ก็ไม่แน่ว่า อาจส่งผลดีกว่าหรืออาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องพิจารณาภาพลักษณ์ สบาย ๆ เป็นกันเอง และใจดี ของคนไทยกันใหม่อีกครั้ง