แถลงการณ์ให้ยกเลิกแนวคิดยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด = ผู้ค้า

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และ 40 องค์กรสิทธิ แถลงการณ์ “ขอให้ยกเลิกแนวคิด ยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด = ผู้ค้า และต้องทบทวนแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดบนหลักสิทธิมนุษยชน”

จากกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปลายสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการมีแนวคิดนำร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยเฉพาะเมตแอมเฟตามีน หรือตีความให้ง่ายว่า ถือครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไปให้เป็น "ผู้ค้า" นั้น

วันนี้ (8 ก.พ. 66) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์เพื่อแสดงความเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีเนื้อหาที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 รวมทั้งสวนทางกับแนวคิดการลดทอนความผิดจากการเป็นอาชญากรรม ที่ถือว่า "ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย" เป็นอย่างมาก รวมทั้ง การให้อำนาจเจ้าพนักงาน “สันนิษฐาน” เป็นการให้ความชอบธรรมแก่เจ้าพนักงาน ที่สามารถจะอ้างการสันนิษฐานในการเลือกที่จะเอาผิดผู้ต้องหาได้ตั้งแต่ชั้นการจับกุม สืบสวนสอบสวน ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ "ใช้อำนาจโดยมิชอบ" และหมิ่นเหม่ต่อการทำให้เกิดสถานการณ์การเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้นในประเทศ

ดังนั้น เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน มากกว่า 40 องค์กรและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม จึงมีความกังวลว่า การออกกฎกระทรวงดังกล่าว นอกจากจะไม่สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์แล้ว ยังเป็นการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคมืดของการจับกุมปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีการป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิมนุษยชน หนักกว่าที่เคยเกิดขึ้นในยุค “สงครามยาเสพติด” จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

  • ให้ รมว.สธ. ถอนการเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่แก้ไขนี้ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยทันที
  • คณะรัฐมนตรี รัฐสภาต้องทบทวนยกเลิกกฎหมายที่รองรับการนำทรัพย์สินที่ยึดจากผู้ต้องโทษคดียาเสพติดมาแบ่งให้เจ้าพนักงาน รวมถึงดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นการทำงานป้องกัน ก่อนที่การกระทำความผิดจะเกิดขึ้น มากกว่าการมุ่งจับกุมเพื่อหวังผลงานหรือหาผลประโยชน์
  • นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ควรกำกับดูแลการเสนอร่างกฎกระทรวงที่ขาดความเหมาะสมฉบับนี้ และทบทวนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา โดยการนำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้ในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดเพื่อให้เขามีทางเลือกในการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเสี่ยงที่เผชิญในปัจจุบัน รวมถึงการพิจารณาให้ผู้ใช้สารเสพติดที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ โดยใช้สิทธิประกันสุขภาพทั้ง 3 สิทธิ เพื่อเป็นการยืนยันหลักการว่า “ผู้เสพไม่ใช่อาชญากร”
  • ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส.หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง จัดประชุมร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่ทำงานด้านสุขภาพหรือกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เรื่องการกำหนดความผิด การพิจารณาคดี การกำหนดบทลงโทษ การนำผู้ใช้ยาเข้าสู่บริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) รวมถึงกระบวนการบำบัดรักษาอย่างมีคุณภาพสำหรับคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

ท่านที่สนใจสามารถอ่านแถลงการณ์ทั้งฉบับได้ที่นี่